เข้าระบบ

ชื่อเรียก:

รหัสผ่าน:

จำฉัน



ลืมรหัสผ่าน?

สมัครสมาชิก!

เมนู

News : รีวิว Asus Eee PC 900 (Windows XP)
ส่งมาโดย kiat เมื่อ 27/5/2008 8:00:00 (8604 ครั้งที่อ่าน) ข่าวสารโดยนักเขียนคนเดียวกัน

รีวิว Asus Eee PC 900 (Windows XP)

หลังจากได้ทดสอบใช้งานมาสักพักใหญ่ คิดว่าคงเก็บข้อมูลของ Asus Eee PC 900 ได้มากพอสมควรแล้ว ถึงเวลามาบอกกล่าวให้เพื่อนๆ ได้รู้กันบ้าง หลังจากอ่านแกะกล่องไปหลายภาคหลายตอนจนเบื่อไปแล้ว



ก่อนอื่นต้องปูพื้นถึงระบบของ Asus Eee PC 900 กันก่อน เริ่มตั้งแต่ระบบขับเคลื่อนของเครื่องจะใช้ซีพียู Intel Celeron-M แบบ Ultra Low Voltage ความเร็ว 900 MHz หน่วยความจำประมวลผลหรือ RAM 1 GB หน่วยความจำเก็บข้อมูลมีสองส่วนคือ SSD 4 GB บนเมนบอร์ด และ SSD 8 GB ซึ่งเป็นหน่วยความจำที่เสียบเพิ่มในช่อง Mini PCI-E ของเครื่อง โดยระบบปฏิบัติการจะเห็นหน่วยความจำเก็บข้อมูลนี้เป็น 2 ไดรฟ์คือ C: และ D: หน้าจอ LCD ขนาด 8.9 นิ้ว กล้องเว็บแคม 1.3 ล้านพิกเซล ส่วนแบตเตอรี่มีความจุ 4400 mAh

ระยะเวลาการบูทระบบ

เนื่องจาก Asus Eee PC 900 ใช้หน่วยความจำเก็บข้อมูลแบบ SSD ซึ่งถือว่าเป็นหน่วยความจำแฟลชที่อ่านเขียนเร็วมาก ระยะเวลาการบูทเครื่องตั้งแต่กดปุ่ม Power จนสามารถกดเรียกเมนูจากปุ่ม Start ได้ใช้เวลาประมาณ 35 วินาที ถือว่าเร็วมากๆ ไม่ต้องใช้ระบบ Standby หรือ Hibernate เลย เพราะระยะเวลาเปิดเครื่องแค่ประมาณครึ่งนาทีเท่านั้นเอง

ความละเอียดหน้าจอ

หน้าจอของ Asus Eee PC 900 ไม่ได้ใหญ่เพียงแค่ขนาด แต่ความละเอียดของหน้าจอก็เพิ่มขึ้นจากรุ่นเดิมด้วย จากที่เคยเป็น 800 x 480 พิกเซล กลายมาเป็น 1024 x 600 พิกเซล ตัวอักษรบนจอแต่ละตัวไม่ได้ใหญ่กว่ารุ่นเดิม ใครที่คิดว่าตัวอักษรที่อยู่ในหน้าจอ 7 นิ้วเล็กยังไง หน้าจอ 8.9 นิ้วของ Eee PC 900 ก็เล็กอย่างนั้น เพียงแต่มันสามารถแสดงจำนวนตัวอักษรต่อแถวได้มากกว่าเท่านั้นเอง

ความละเอียดหน้าจอที่เพิ่มขึ้นมานี้มีประโยชน์มาก โดยเฉพาะการใช้งาน Internet เพราะเว็บไซท์ส่วนใหญ่ในปัจจุบันจะออกแบบหน้าเว็บให้มีความกว้างอยู่ที่ 1024 พิกเซลซึ่งพอดิบพอดีกับจำนวนพิกเซลของหน้าจอ Eee PC 900 เลย ลองเปรียบเทียบการหน้าจอของแต่ละเว็บในขนาดความละเอียดหน้าจอที่แตกต่างกันดูครับ

ทดสอบที่หน้าจอความกว้าง 800 พิกเซล (มาตรฐานของ Eee PC 700/701)

เว็บไซท์แรกที่ทดสอบก็ไม่ไปไกล ก็คือเว็บ TrendyPDA.com นั่นเอง โดยจะออกแบบเว็บเป็นแบบตารางยืดหยุ่น ก็คือตารางเนื้อหา (ตารางขวาหรือกลางในหน้าแรก) จะให้เป็นเปอร์เซนต์ของหน้านั้นๆ ไม่ว่าหน้าจอของผู้ใช้จะมี resolution เท่าไร ตารางนี้จะยืดและยดได้เอง ในภาพจะใช้หน้าจอความกว้าง 800 พิกเซล และที่เห็นในภาพมันก็ (เกือบ) ไม่ตกขอบ แต่เนื้อหาจะเบียดๆ กันหน่อย



เว็บที่สองที่ทดสอบคือเว็บข่าวผู้จัดการ เว็บนี้มีเนื้อหามาก เข้าใจว่าแต่ละตารางจะกำหนดเป็นพิกเซลตายตัว เมื่อดูด้วยหน้าจอความกว้า 800 พิกเซล จะเห็นหน้าไม่เต็ม เวลาจะดูเนื้อหาทางขวาก็ต้องเลื่อนหน้าไปทางขวาเพราะเว็บออกแบบมาให้ใช้กับความกว้างหน้่าจอแบบ 1024 พิกเซลขึ้นไปเท่านั้น



ทดสอบที่หน้าจอความกว้าง 1024 พิกเซล (มาตรฐานของ Eee PC 900)

คราวนี้เปลี่ยนความกว้างหน้าจอเป็น 1024 พิกเซล ตารางดูเป็นเป็นธรรมชาติกว่า ตารางไม่ถูกหด ตัวหนังสือไม่ถูกขึ้นบรรทัดใหม่ ในภาพจริงๆ แล้วตัวอักษรไม่ได้เล็กลงนะครับ แต่ผมย่อภาพให้มันเท่ากัน ตัวหนังสือที่แสดงเลยเล็กไป หากเป็นจอ 8.9" จริงๆ ตัวอักษรก็ใหญ่ไม่ค่อยแตกต่างกับที่เห็นในหน้าจอ 7" นัก



สำหรับเว็บผู้จัดการ จะเห็นความแตกต่างชัดเจน สามารถดูเว็บได้แบบเต็มๆ หน้า ไม่ต้องเลื่อนซ้ายขวา




หน่วยความจำเก็บข้อมูล (Solid State Drive - SSD)

หน่วยความจำเก็บข้อมูล SSD ของ Eee PC 900 จะมีสองส่วนคือ SSD ขนาด 4 GB ซึ่งจะถูกใช้เป็นไดร์ฟแรกสำหรับบูทเครื่องและติดตั้งระบบปฏิบัติการ ส่วนที่สองมีขนาด 8 GB (รุ่น Windows XP) สำหรับติดตั้งโปรแกรมเพิ่มเติมรวมทั้งใช้เก็บข้อมูลด้วย หน่วยความจำทั้งสองส่วนนี้มีความเร็วการเขียนอ่านไม่เท่ากัน ลองมาดูผ่านการทดสอบจากโปรแกรม HD Tune ดูครับ



SSD 4 GB บนเมนบอร์ดมีอัตราการโอนถ่ายข้อมูลเฉลี่ยอยู่ที่ 35.4 MB/Sec ถือว่าเร็วเอาการ ไม่ทำให้ผิดหวังเลย



สำหรับ SSD ส่วนที่เป็น Mini PCI-E Card ที่เสียบเพิ่มใต้เครื่องจะทำงานช้ากว่า อัตราการโอนถ่ายข้อมูลเฉลี่ยอยู่ที่ 27.1 MB/Sec แต่ก็ยังเร็วอยู่ดี และเนื่องจากไม่ได้ออกแบบมาให้บูทระบบและติดตั้งระบบปฏิบัติการ ความเร็วที่น้อยกว่าก็คงไม่ทำให้รู้สึกแตกต่างนัก



ไหนๆ ก็ลองทดสอบความเร็วกันแล้ว เลยลองทดสอบกับ SDHC 4 GB Class 6 ของ Apacer ดูบ้าง ผลคืออัตราการโอนถ่ายข้อมูลเฉลี่ยอยู่ที่ 16.0 MB/Sec เรียกว่าครึ่งๆ ของ SSD บนเมนบอร์ดเลย



แล้วก็มาถึงตา USB Flash Drive ของ Apacer ขนาด 4 GB โดยเป็นแบบ Hispeed 5X ผมออกมาได้อัตราการโอนถ่ายข้อมูลที่ 14.3 MB/Sec ครึ่งๆ ของ SSD 8 GB ใน Mini PCI-E port เลย

คีย์บอร์ด


ด้วยความจำกัดของขนาดตัวเครื่อง ทำให้แป้นคีย์บอร์ดทั้งหมดเล็กไปด้วย หากพิมพ์งานเล็กๆ น้อยๆ ก็คงไม่มีปัญหาอะไร แต่หากต้องพิมพ์มากๆ จะรู้สึกติดขัดพอสมควร เพราะจากประสบการณ์การใช้รุ่น Eee PC 4G (701) ซึ่งมีคีย์บอรด์ชนิดเดียวกันมาครึ่งปี ทุกวันนี้ยังไม่สามารถพิมพ์สัมผัสด้วยคีย์บอร์ดของ Eee PC ได้เลย เหมาะสำหรับพิมพ์อะไรเล็กๆ น้อย เช่น อีเมล์ เมนท์ในฮิห้า หรือตอบคำถามในกระทู้ TrendyPDA มากกว่า ใครที่คิดว่าจะซื้อ Eee PC มาพิมพ์รายงาน คงต้องฝึกฝนและอดทนกับคีย์บอร์ดของ Eee PC ให้มากหน่อย แต่ข้อเสียนี้น่าจะเป็นเหมือนกันสำหรับ Sun notebook เกือบทุกรุ่น เพราะข้อจำกัดจากขนาดของเครื่อง สิ่งที่น่าหงุดหงิดอีกเรื่องก็คือปุ่ม Shift ทางขวาจะวางในตำแหน่งทางขวาของปุ่มลูกศรขึ้น ซึ่งผิดธรรมชาติมาก ทุกครั้งที่กดปุ่ม Shift ขวา จะเผลอไปกดถูกปุ่มลูกศรขึ้น ทำให้เคอร์เซอร์เด้งไปอีก 1 บรรทัดทันที



Smart-Pad (Multitouch Touchpad)

สิ่งที่ทำให้ Asus Eee PC 900 ดูโดดเด่นกว่ารุ่นเดิมรวมทั้งคู่แข่งรายอื่นๆ ก็คือ Smart-Pad หรือ Touchpad ระบบ Multitouch ทำให้การใช้งาน Touchpad สะดวกสบายขึ้นอีกมาก แทนที่จะใช้นิ้วเดีียวลากหรือแตะเพื่อสั่งงานต่างๆ ก็สามารถใช้สองนิ้วเพื่อสั่งงานได้ต่างๆ นานา โดยระบบจะดูจากทิศทางการลากของสองหรือสามนิ้วเป็นสำคัญ เริ่มจากการแตะแทนการคลิกเมาส์ (tapping) การเลื่อนหน้าจอขึ้นลงหรือซ้ายขวา (scrolling) การย่อขยายการแสดงภาพ (zooming) การหมุนภาพ (rotating) การลากแล้ววาง (drag and drop) การขยายบางส่วนของจอภาพ (magnifying glass) การเลื่อนหน้า (swipe page) และการใช้เรียกเป็นคำสั่ง fast key เพื่อเรียกคำสั่ง My Computer, Desktop, Pop-up Menu และ Switch Windows

ที่น่าสังเกตคือ ความไวของ Touchpad ในบางจังหวะจะน้อยไปนิด บางครั้งแตะแล้วก็ไม่ตอบสนอง อาจเป็นเพราะระบบ Smart-Pad ที่อาจจะกำลังตีความว่าผู้ใช้กำลังแตะแบบไหนอยู่ แต่ก็กลายเป็นข้อดีบ้างเหมือนกัน เพราะจะทำให้ความผิดพลาดตอนพิมพ์งานเมื่อนิ้วเผลอไปถูก Touchpad ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นลดลง



ลำโพง

เนื่องจาก Eee PC 900 มีหน้าจอที่ใหญ่ขึ้น โดยยังคงให้มีขนาดของเครื่องเท่าเดิม ทำให้จอใช้พื้นที่ของฝาบนไปหมด และลำโพงทั้งสองข้างที่เคยอยู่ข้างจอจึงถูกย้ายไปอยู่ใต้เครื่อง ข้อดีอย่างหนึ่งก็คือ ผู้ใช้สามารถฟังเพลงได้โดยไม่ต้องเปิดฝาเครื่องทิ้งไว้ ความดังของเสียงเมื่อเทีียบกับลำโพงของ Eee PC 700/701 แทบไม่ต่างกัน แม้คุณภาพเสียงของลำโพง Eee PC 900 อาจด้อยกว่าเล็กน้อย น่าจะเนื่องมาจากลำโพงคว่ำหน้าลงพื้น เสียงแทนที่จะพุ่งตรงเข้าหูของเรา ก็ต้องไปสะท้อนกับพื้นใต้เครื่องก่อน แต่ก็มีข้อเสียคือทำให้เสียงเบสแน่นขึ้น หากฟังเพลงร็อคหรือเพลงที่มีเสียงเบสแน่นๆ ลำโพง Eee PC 900 ฟังได้อารมณ์กว่าด้วยซ้ำ

กล้องดิจิตอล (Webcam)

กล้องดิจิตอลของ Eee PC 900 ถูกเปลี่ยนจากกล้องแบบ VGA ( 0.3 ล้านพิกเซล) มาเป็นกล้องความละเอียด 1.3 ล้านพิกเซลแทน คุณภาพของกล้องถือว่าดี ให้แสงที่สว่าง สีสันพอใช้ได้ ใช้งานเป็นกล้องเว็บแคมคุยแชทต่างๆ ได้ไม่อายใครแน่นอน ระยะชัดประมาณ 1 เมตรขึ้นไป ในภาพผมวางหนังสือห่างจากกล้องประมาณ 50 ซม. ในห้องแสงสีเหลือง ภาพออกมาถือว่าดี แม้จะไม่ชัดมาก (เพราะตั้งใกล้กว่าระยะชัด)



ไมโครโฟน

เนื่องจากรูไมโครโฟนรุ่นเดิมอยู่ใต้เครื่อง ทำให้การบันทึกเสียงหรือคุยแชททำได้ไม่สะดวก เสีียงไม่ค่อยชัดเจน ต้องย่อตัวไปพูดใกล้ๆ ไมโครโฟน แต่สำหรับ Eee PC 900 ซึ่งได้ย้ายรูไมโครโฟนมาอยู่ข้างกล้องดิจิตอล ทำให้การใช้งานเป็นธรรมชาติมากขึ้น การบันทึกเสียงทำได้สะดวก การแชทแบบใช้เว็บแคมด้วยยิ่งสะดวกมากขึ้น เสียงที่บันทึกได้ชัดเจนดี ไม่ต้องตะโกน แค่พูดเสียงธรรมชาติ ไมโครโฟนก็รับรู้และบันทึกเสียงของเราได้ดี

แบตเตอรี่

เนื่องจากแบตเตอรี่ของ Eee PC 900 ที่ให้มามีความจุเพียง 4400 mAh ซึ่งเท่ากับรุ่นเดิม แต่ขนาดของจอภาพซึ่งใช้พลังงานมากก็ใหญ่ขึ้นมากด้วย ทำให้ระยะเวลาการใช้งานทำได้น้อยกว่ารุ่นเดิมพอสมควร คือ Eee PC 900 ผมทดสอบเปิดไฟหน้าจอครึ่งหนึ่ง โดยเชื่อมต่อสัญญาณ WiFi เพื่อใช้งาน Internet ผลออกมาว่าสามารถใช้งานได้ประมาณ 2 ชั่วโมงเท่านั้น ค่อนข้างน่าผิดหวังไปหน่อย ปัญหานี้สามารถบรรเทาได้ด้วยการเปลี่ยนโหมดการทำงานจาก Performance Mode เป็น Power Saving Mode ใน BIOS ได้ ซึ่งจะทำให้เครื่องทำงานที่ความเร็ว 630 MHz เหมือนรุ่น Eee PC 700/701 ก็จะทำงานได้นานขึ้นอีกหน่อย

AC Adapter

AC Adapter ของ Eee PC 900 เปลี่ยนรูปแบบจากเดิมโดยสิ้นเชิง จากเดิมที่มีรูปร่างหน้าตาคล้าย Wall Charger ของโทรศัพท์มือถือ เปลี่ยนมาเป็นมาตรฐานยิ่งขึ้น โดยจะเหมือนกับ AC Adapter ของเครื่องคอมพิวเตอร์พกพาทั่วไป แต่มีขนาดเล็กกว่ามาก เวลาเสียบไฟแล้วจะมีไฟสีฟ้าติดที่ตัว Adapter ด้วย ความยาวของสายจะสั้นกว่าของรุ่นเดิมประมาณ 1 ฟุต ขาเสียบเป็นแบบกลม ไม่มีตัวแปลงเป็นขาแบนมาให้ (ต้องซื้อมาแปลงเองหากต้องการ) ขนาดของ AC Adapter เล็กมากคือมีขนาดเพียง 85 x 34 x 25 มม. หรือประมาณเหรีียญสิบบาทวางเรียงกันสามอันเท่านั้น สิ่งที่แตกต่างอีกอย่างก็คือ AC Adapter นี้จะจ่ายไฟที่ 12v / 3A ทำให้การชาร์จแบตเตอรี่ใช้เวลาน้อยลง เนื่องจากรุ่นเดิมจะจ่ายไฟที่ 9.5V / 2.315 A เท่านั้น




สรุป


สิ่งที่ Asus Eee PC 900 เปลี่ยนแปลงไปจากรุ่นเิดิมอย่างเห็นได้ชัดคือ

  • ขนาดหน้าจอจาก 7 นิ้วเป็น 8.9 นิ้ว
  • ความละเอียดการแสดงผลของหน้าจอจาก 800 x 480 พิกเซลเป็น 1024 x. 600 พิกเซล
  • เพิ่มหน่วยความจำเก็บข้อมูล SSD จากเดิมที่มีเพียง SSD 4 GB บนเมนบอร์ด มาเป็น SSD 4 GB บนเมนบอร์ดและ SSD 8 GB ที่เพิ่มทาง Mini PCI-E Port
  • Touchpad ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น โดยเพิ่มความสามารถจนเป็น Smart-Pad ที่รองรับการบังคับควบคุมด้วยหลายนิ้ว (Multitouch)
  • ลำโพงถูกย้ายตำแหน่งไปอยู่ใต้เครื่อง สามารถฟังเพลงโดยปิดฝาจอได้
  • กล้องดิจิตอลเปลี่ยนจากกล้องความละเอียด 0.3 ล้านพิกเซลเป็น 1.3 ล้านพิกเซล
  • รูไมโครโฟนย้ายจากใต้เครื่องมาอยู่ฝาบนข้างกล้องดิจิตอล
  • AC Adapter ที่เปลี่ยนเป็นแบบมาตรฐาน พกพาได้ง่ายขึ้น ชาร์จไฟได้เร็วขึ้น

สำหรับการเปลี่ยนแปลงนั้น
สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น
จุดด้อยจุดเดียวก็คือความจุของแบตเตอรี่ที่ควรจะมีมากกว่ารุ่นเดิม
เพราะจอภาพที่เป็นอุปกรณ์ที่ใช้พลังงานมากอยู่แล้วถูกเพิ่มขนาดให้ใหญ่ขึ้น
แถมเป็นอุปกรณ์ที่ต้องถูกเปิดใช้งานแทบจะตลอดเวลา
ทำให้ระยะเวลาการใช้งานของ Eee PC 900 ลดลงอย่างเห็นได้ชัด หาก Asus
ให้แบตเตอรี่ความจุสัก 5800 mAh เหมือนที่ให้กับผู้ซื้อในบางประเทศ Eee PC
900 คงได้รับคำชมอย่างเต็มปากเต็มคำว่า "Perfect"

Asus Eee PC 900 ยังคงเป็น Sub notebook ที่เหมาะสำหรับการเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์พกพาเครื่องที่สองที่เน้นความสะดวกสบายในการพกพาและการเชื่อมต่อเป็นหลัก ไม่ว่าจะป็นการเปิดค้นหาข้อมูลในเว็บไซท์ต่างๆ การแชทกับเพื่อน เช่น MSN หรือ Skype มันไม่เหมาะกับงานหลักต่างๆ เช่น การพิมพ์หน้าเอกสารยาวๆ เนื่องจากข้อจำกัดของขนาดหน้าจอและปุ่มคีย์บอร์ดที่เล็กเกินกว่าจะพิมพ์สัมผัสได้คล่องแคล่ว หากมั่นใจแล้วว่าซื้อไปแล้วใช้ได้ถูกงาน ไม่หลงประเด็นไปกับเครื่องคอมพิวเตอร์พกพาหน้าจอ 15 นิ้วราคาถูก แต่น้ำหนักมากกว่าถึง 2-3 เท่า Eee PC 900 ถือว่าเป็นตัวเลือกที่เลือกไม่ผิดแน่นอน




บทความที่เกี่ยวข้อง :-





บทความอื่นๆ
31/5/2011 14:19:49 - เฉลยแล้ว ! ที่แท้ก็เป็น ASUS Padfone โทรศัพท์และแท็บเล็ตที่รวมร่างกันได้
24/5/2011 14:09:11 - ASUS ปล่อยภาพแท็บเล็ตใหม่มายั่วกันอีกแล้ว
20/5/2011 13:26:54 - Samsung Galaxy Tab 8.9 ก็มี Keyboard Dock เหมือนกัน
19/5/2011 13:47:46 - Fujitsu เตรียมวางตลาดแท็บเล็ตจอ 7" ระบบปฏิบัติการ Android 3.1
19/5/2011 13:19:45 - ข้อมูลเพิ่มเติม hTC Puccini แท็บเล็ตจอ 10.1" พร้อมการเชื่อมต่อแบบ 4G
18/5/2011 13:36:05 - หวานแหววได้อีก Acer เตรียม Aspire One Happy 2 พร้อมซีพียูแรงขึ้น
17/5/2011 14:02:09 - แกะกล่อง/พรีวิว hTC Flyer แท็บเล็ตจอ 7" รองรับการจดโน้ตด้วยปากกา
17/5/2011 13:18:11 - แกะกล่อง BlackBerry PlayBook แท็บเล็ตคู่บุญขาแชท
16/5/2011 11:47:42 - มาดู Android 3.1 ใน Motorola Xoom กัน
13/5/2011 14:05:55 - Acer แะล Samsung พร้อมปล่อย ChromeBook ลงตลาดเดือนหน้า



Bookmark this article at these sites