เข้าระบบ

ชื่อเรียก:

รหัสผ่าน:

จำฉัน



ลืมรหัสผ่าน?

สมัครสมาชิก!

เมนู






เที่ยว 3 วัดในเมืองกรุงฯ ตามรอย ?สุนทรภู่?
มือสมัครเล่น
เป็นสมาชิกเมื่อ:
19/6/2007 15:36
กลุ่ม:
สมาชิก
โพส: 63

รูปหล่อ"สุนทรภู่"และข้าวของเครื่องใช้ของท่าน ตั้งแสดงไว้ในกุฏิสุนทรภู่ ณ วัดเทพธิดาราม


?แล้วสอนว่าอย่าไว้ใจมนุษย์ มันแสนสุดลึกล้ำเหลือกำหนด
ถึงเถาวัลย์พันเกี่ยวที่เลี้ยวลด ก็ไม่คดเหมือนหนึ่งในน้ำใจคน?
(พระอภัยมณี)

บทกลอนอันไพเราะ ข้อความอันจับจิต นี้ ฉันเชื่อว่าทุกคนจะต้องผ่านหูผ่านตากันมาบ้างล่ะ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องพระอภัยมณี ผลงานที่ขึ้นชื่อของ ?สุนทรภู่? กวีเอกของไทยผู้ไม่ธรรมดา เพราะถึงขนาดที่องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ยกย่องให้เป็นเป็นบุคคลสำคัญของโลก ผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม หรือนัยหนึ่งก็คือเป็น ?กวีเอกของโลก? เมื่อปี พ.ศ. 2529

ผลงานของสุนทรภู่แต่ละเรื่องล้วนแล้วแต่น่าสนใจ พอๆ กับเรื่องราวชีวิตจริงของท่านที่มีหลากหลายน่าศึกษา เพราะตลอดช่วงชีวิตท่านได้ตระเวนไปยังที่ต่างๆ มากมาย ฉันเลยเกิดความคิดว่าจะตามรอยท่านสุนทรภู่ แต่ครั้นจะตามทุกเขตแคว้นที่ท่านไป คงต้องใช้เวลานานเป็นเดือนๆ แน่ ฉันจึงเลือกไปแค่ 3 วัดในเมืองกรุง ซึ่งสุนทรภู่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องตั้งแต่เล็กกระทั่งล่วงเข้าสู่วัยชรา


"อนุสาวรีย์สุนทรภู่" ที่วัดชีปะขาว สถานที่เรียนเมื่อครั้งท่านยังเด็ก


วัดชีปะขาว : เรื่องราวในวัยเด็กของสุนทรภู่

สุนทรภู่เกิดเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ.2329 ที่บ้านใกล้กำแพงวังหลัง คลองบางกอกน้อย ซึ่งน่าจะอยู่แถวสถานีรถไฟธนบุรี ท่านไม่ใช่คนบ้านกล่ำ เมืองแกลง จังหวัดระยอง อย่างที่หลายคนเข้าใจสับสน เพราะจริงๆ แล้วที่นั่นเป็นบ้านเกิดของพ่อท่าน

ในช่วงวัยเด็กจนถึงวัยหนุ่ม ท่านจึงได้ศึกษาเล่าเรียนที่ วัดชีปะขาว หรือ วัดศรีสุดารามวรวิหาร ที่อยู่ใกล้บ้านท่านปัจจุบันอยู่ในซอยบางขุนนนท์ ไม่ไกลจากถนนจรัญสนิทวงศ์เท่าใด

คนแก่แถวนั้นเล่าให้ฟังว่าเมื่อก่อนบริเวณวัดและย่านนี้เป็นสวนลิ้นจี่ เต็มไปด้วยความสงบ แต่มาถึงตอนนี้ สภาพเก่าๆ เหล่านั้นไม่เหลือแล้ว กลายเป็นบ้านของผู้คนที่อยู่กันอย่างหนาแน่นแทน

ฉันเดินเข้าไปในวัดเพื่อสอบถามว่ายังคงมีอะไรที่เกี่ยวข้องกับสุนทรภู่หลงเหลืออยู่หรือไม่ ปรากฏว่าสิ่งเดียวที่มีอยู่และทำให้รู้ว่า วัดชีปะขาวนี้เคยเป็นทั้งที่เรียน ที่เล่น และที่ทำงานของสุนทรภู่ เพราะท่านเคยเป็นครูสอนผู้ที่จะทำหน้าที่เป็นเสมียน นั่นก็คือ ?อนุสาวรีย์สุนทรภู่? ซึ่งมีปรากฏในโคลงนิราศสุพรรณ ตอนหนึ่งว่า

"วัดปะขาวคราวรุ่นรู้ แรกเรียน
ทำสูตรสอนเสมียน สมุดน้อย
เดินระวางระวังเวียน หว่างวัด ปะขาวเฮย
เคยชื่นกลืนกลิ่นสร้อย สวาทห้างกลางสวน"

อนุสาวรีย์สุนทรภู่นี้ เป็นรูปปั้นจำลองท่านในวัยเด็ก ซึ่งสมัยก่อนยังไม่มีเทคโนโลยีการถ่ายภาพ จึงไม่มีใครบอกได้ว่าหน้าตาของท่านจะเป็นเช่นที่เห็นอยู่หรือไม่

อย่างที่บอกไปว่าอดีตของสุนทรภู่ ณ บริเวณนี้แทบไม่มีสิ่งใดหลงเหลือไว้ แม้กระทั่งปัจจุบันก็เหมือนจะไม่มีใครรู้ว่าที่วัดนี้มีอนุสาวรีย์ของท่านอยู่ รอบๆ บริเวณจึงดูเงียบเหงา ที่แท่นหน้ารูปปั้นเห็นเพียงรอยเทียนที่ถูกจุดและพวงมาลัยเก่าๆ แห้งๆ วางไว้อย่างเดียวดาย

ใครที่ได้ไปแถวบางขุนนนท์ ซึ่งเป็นย่านของกินมีชื่อแล้ว ก็น่าจะแวะเข้าไปสัมผัสความสงบที่วัดชีปะขาว ถือโอกาสทำบุญให้อาหารปลาที่อยู่ในคลองบางกอกน้อยหน้าวัด และอย่าลืมไปทำความเคารพอนุสาวรีย์สุนทรภู่ซึ่งตั้งอยู่ที่ด้านหลังของ ?รูปปั้นสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังษี)? ด้วยก็แล้วกัน




วัดเลียบ วัดที่สุนทรภู่เคยบวชแล้วถูกขับออก


วัดราชบูรณะ : พระสุนทรภู่บวชแล้วถูกขับออกจากวัด

จากความสามารถในงานกวี ทำให้สุนทรภู่มีความรุ่งโรจน์มากที่สุดในช่วงรัชกาลที่ 2 แต่แล้วชีวิตก็ต้องผกผันเพราะได้ไปแก้บทพระนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำต่อหน้าพระที่นั่ง พระองค์ทรงอับอายข้าราชบริพาร จึงเป็นเหตุให้ขุนสุนทรโวหารถูกถอดยศถาบรรดาศักดิ์ ถึงคราวตกอับต้องออกบวช

อันที่จริงแล้วสุนทรภู่ได้บวชและตระเวนจำพรรษาในหลายวัดมาตั้งแต่ช่วงรัชกาลที่ 2 เช่นที่วัดอรุณราชวราราม (วัดแจ้ง) วัดพระเชตุพน (วัดโพธิ์) วัดมหาธาตุ

ส่วนที่ วัดราชบูรณะ หรือ วัดเลียบ เป็นวัดที่ท่านบวชในปี พ.ศ. 2367 และได้มีโอกาสถวายอักษรเจ้าฟ้าชายกลาง และเจ้าฟ้าชายปิ๋ว พระโอรสในรัชกาลที่ 2

จนกระทั่งคราวหนึ่ง พระภู่เกิดอธิกรณ์ (ต้องโทษ,คดี) เพราะดื่มเหล้า จึงถูกขับออกจากวัด เหตุที่คาดว่าท่านเกิดการวิวาทกับพระในวัด ด้วยความตอนหนึ่งในนิราศภูเขาทองกล่าวว่า

"โอ้อาวาสราชบูรณะพระวิหาร แต่นี้นานนับทิวาจะมาเห็น
เหลือรำลึกนึกน่าน้ำตากระเด็น เพราะขุกเข็ญคนพาลมารานทาง
จะหยิบยกอธิบดีเป็นที่ตั้ง ก็ใช้ถังแทนสัดเห็นขัดขวาง
จึ่งจำลาอาวาสนิราศร้าง มาอ้างว้างวิญญาในสาคร"

สุนทรภู่มีความอาลัยรักในศิษย์ทั้งสอง ก่อนที่จะจากไปจึงได้ถวายอักษรเป็น ?เพลงยาวถวายโอวาท? ซึ่งเป็นสุภาษิตคำสั่งสอนที่ติดใจคนทั่วไปมาก อย่างเช่น ?อันอ้อยตาลหวานลิ้นแล้วสิ้นซาก แต่ลมปากหวานหูไม่รู้หาย?

เป็นที่น่าเสียดายว่าอดีตของสุนทรภู่อย่างเช่น พระวิหารที่เคยอยู่ ก็ไม่คงเหลือไว้ เพราะเมื่อคราวสงครามโลกครั้งที่ 2 วัดเลียบกลายเป็นเป้ารับระเบิดแบบเต็มๆ แทนการไฟฟ้านครหลวงและสะพานพุทธที่อยู่ใกล้ๆ ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ วัดเลียบเสียหายหนัก กว่าจะฟื้นฟูให้กลับคืนมาได้ก็ใช้เวลานานหลายสิบปี

มีเพียง พระปรางค์ ที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 ที่เป็นปูชนียวัตถุชิ้นเดียวของวัดที่รอดพ้นจากภัยทางอากาศในสงครามโลกครั้งที่ 2

ถึงวันนี้ไม่เหลือร่องรอยอดีตของสุนทรภู่ แต่ฉันก็ถือโอกาสนี้เดินเที่ยวบริเวณรอบวัด ถึงแม้จะขัดตาไปบ้างกับบางจุดที่กลายเป็นที่จอดรถไป แต่ก็ไม่ว่ากันเพราะยุคสมัยเปลี่ยนอะไรๆก็เปลี่ยน แม้แต่ ?ต้นเลียบ? ที่เคยมีอยู่มากในวัด ก็ยังเหลืออยู่ไม่กี่ต้น ใครอยากรู้ว่าต้นเลียบเป็นอย่างไร คงต้องตามไปค้นหากันดู




"กุฏิสุนทรภู่"ที่พำนักในช่วงบั้นปลายของสุนทรภู่ เมื่อครั้งบวชอยู่ที่วัดเทพธิดาราม


วัดเทพธิดาราม : ยามบวช ณ บั้นปลาย

อีกวัดหนึ่งที่ฉันจะไม่ไปไม่ได้เลย เพราะเป็นวัดสำคัญที่ยังมีเรื่องราวและการเก็บรักษาข้าวของเครื่องใช้ของสุนทรภู่ไว้เป็นอย่างดี นั้นก็คือ ?วัดเทพธิดาราม?

กล่าวคือหลังจากที่พระสุนทรภู่ได้จากวัดเลียบ ก็ได้ได้เดินทางไปยังสุพรรณบุรี ใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นระยะหนึ่ง แล้วเดินทางกลับกรุงเทพฯ จำพรรษาอยู่ที่วัดเทพธิดารามเมื่อปี พ.ศ. 2383 ขณะนั้นอายุได้ 54 ปี อยู่ที่วัดนี้ได้ 3 พรรษาท่านก็ลาสิกขาบท ด้วยเหตุผลเพื่อเตรียมตัวตาย โดยมีสาเหตุมาจากฝันร้าย ว่าชะตาขาดจนถึงแก่ชีวิต
จึงได้แต่งนิราศรำพันพิลาป ซึ่งเป็นบทกวีที่ทำให้ทราบเรื่องราวในชีวิตของท่านอีกเป็นอันมาก

?เป็นคราวเคราะห์ก็ต้องพรากจากวิหาร กลัวพวกพาลผู้ร้ายจำย้ายหนี
อยู่วัดเทพธิดาด้วยบารมี ได้ผ้าปีปัจจัยไทยทาน
ถึงยามเคราะห์ก็เผอิญให้เหินห่าง ไม่เหมือนอย่างอยู่ที่พระวิหาร
โอ้ใจหายกลายกลับอัประมาณ โดยกันดารเดือดร้อนไม่หย่อนเย็น?

เพราะเป็นวัดที่ท่านบวชในช่วงเกือบจะบั้นปลาย จึงยังคงมีเรื่องราวและร่องรอยของท่านอยู่มาก โดยภายในวัดเทพธิดารามมี ?กุฏิสุนทรภู่? ที่ท่านได้พำนัก ดังในบทหนึ่งของรำพันพิลาป

?เคยอยู่กินถิ่นที่กระฎีก่อ เป็นตึกต่อต่างกำแพงฝากแฝงฝา
เป็นสองฝ่ายท้ายวัดวิปัสสนา ข้างโบสถ์บาเรียนเรียงเคียงเคียงกัน?

ก่อนหน้านี้ฉันเคยมีโอกาสมาที่วัดเทพธิดารามมาแล้ว แต่ก็ไม่ได้ใส่ใจเยี่ยมชมกุฎิสุนทรภู่มากนัก เพราะมัวแต่ไปชมงานศิลปะและสถาปัตยกรรมในเขตอุโบสถ มาครั้งนี้จึงตั้งใจมุ่งตรงมาที่กุฎิท่าน ซึ่งได้เก็บเครื่องอัฐบริขาร เมื่อครั้งที่ท่านยังอยู่ในสมณเพศ ปัจจุบันได้รักษาไว้เป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อให้ประชาชนทั่วไปมาเยี่ยมชมและศึกษาค้นคว้า

แค่เพียงด้านนอก ฉันก็สะดุดตากับไม้ดัดที่เป็นรูปนางยักษ์ผีเสื้อสมุทร หนึ่งในตัวละครสำคัญในเรื่องพระอภัยมณี ผลงานเลื่องชื่อของสุนทรภู่ และเมื่อเข้าไปข้างในสุนทรภู่ก็ได้เห็นรูปปั้นครึ่งตัวของสุนทรภู่ตั้งเด่นอยู่ที่มุมห้องด้านใน ฉันเข้าไปไหว้ทำความเคารพและถือโอกาสเยี่ยมชมภายในกุฏิท่าน ซึ่งข้าวของเครื่องใช้ของท่านหลายๆอย่าง ยังคงถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี มีทั้งสมุดข่อย 200 ปี คัมภีร์พระมาลัย ตำรารักษาโรคต่างๆ รวมถึงเครื่องใช้ขณะจำพรรษา เครื่องใช้เล่นแร่แปรธาตุ และอีกหลายอย่าง



ไม้ดัดนางยักษ์ผีเสื้อสมุทร ที่ยืนเด่นอยู่ข้างๆ กุฏิสุนทรภู่วัดเทพธิดาราม


สุนทรภู่ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อ พ.ศ. 2398 รวมอายุได้ 70 ปี คาดว่าคงจะได้รับพระราชทานเพลิงศพ ที่วัดสระเกศหรือวัดสุวรรณาราม วัดใดวัดหนึ่ง

สิ่งที่ฉันได้จากการตามรอยสุนทรภู่ครั้งนี้ไม่ใช่เพียงจะรู้ประวัติเรื่องราวชีวิต 4 แผ่นดินของท่าน แต่ยังได้ตระหนักว่า ถึงแม้เวลาจะเปลี่ยนผัน สิ่งต่างๆเปลี่ยนแปร ทว่าชื่อเสียงและคุณงามความดีของคนไม่มีวันเสื่อมสลาย ดังเช่น ?สุนทรภู่? ซึ่งท่านได้ลาจากไปเนิ่นนาน แต่เราคนไทยก็ยังระลึกถึงท่านอยู่เสมอ





วันศุกร์ที่ 22 มิถุนายน มีงาน ?ชุมชนบางกอกน้อย เปิดถิ่นบานบ้านเกิด มหากวีกระฏุมพีสยาม สุนทรภู่อยู่วังหลัง คนบางกอกน้อย ฝั่งธนบุรี? บริเวณรอบลานพระอุโบสถวัดอมรินทราราม (หลวงพ่อโบสถ์น้อย) ปากคลองบางกอกน้อย สถานีรถไฟธนบุรี สอบถามได้ที่ โทร. 0-2411-0576

ส่วนที่วัดเทพธิดาราม มีการจัดงานรำลึกถึงสุนทรภู่ ในวันที่ 26 มิถุนายน เป็นประจำทุกปี ซึ่งปีนี้มีการจัดกิจกรรมต่างๆมากมาย ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมงานได้

Link: http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9480000082727

โพสเมื่อ : 26/6/2007 14:54
Transfer the post to other applications Transfer


Re: เที่ยว 3 วัดในเมืองกรุงฯ ตามรอย ?สุนทรภู่?
มือใหม่
เป็นสมาชิกเมื่อ:
27/6/2007 13:03
กลุ่ม:
สมาชิก
โพส: 19
Interesting!!!
Thanks

โพสเมื่อ : 2/7/2007 15:05
Transfer the post to other applications Transfer







[ค้นหา ขั้นสูง]