แกะกล่อง Eee PC 901 ตอนที่ 2 (BIOS)หลังจากแกะกล่อง Eee PC 901 ตอนแรกไป ก็เว้นไปยาวเลย คือตั้งใจว่าจะรอให้ของวางตลาดก่อนแ้ล้วจะเขียนบทความให้พอดีกัน แต่คาดผิด ของวางตลาดช้าจากที่คิดไว้เกือบเดือน บทความเลยค้างเติ่ง แต่ตอนนี้ Eee PC 901 ก็วางตลาดมาให้หลายๆ คนเชยชมกันแล้ว และตามธรรมเนียม เราต้องสำรวจ BIOS กันก่อน (BIOS ของ Eee PC มีดีนะจะบอกให้)
การเข้า BIOS ของ Eee PC 901 ก็เหมือนกันรุ่นก่อนหน้านี้ คือให้กด F2 ขณะบูท เมื่อเข้ามาแล้วหน้าแรกจะแสดงรายละเอียดของ BIOS และซีพียูรวมทั้งความจุของ RAM ที่มี สำหรับ Eee PC 901 เดิมๆ เลยจะให้ RAM มา 1 GB ซึ่งถือว่าเพียงพอกับความต้องการแล้ว ส่วนซีพียูก็อย่างที่รู้ๆ กันอยู่คือ Intel Atom N270 ความเร็ว 1.6 GHz
มาดูหน้า Advanced กันดีกว่า สำหรับหน้านี้จะมีส่วนย่อยอีกสามส่วนคือ IDE Configuration, Onboard Devices Configruation และ CPU Configuration
เข้ามาดูในส่วน IDE Configuration จะเห็นว่า Eee PC 901 ใช้ SSD ของ PHISON เป็นสื่อบันทึกข้อมูล มี 2 SSD แยกอิสระต่อกัน หากดูใน Windows XP จะเห็นเป็น C: และ D: ซึ่งเป็นคนละไดร์ฟกัน ไม่ใช่หนึ่งไดร์ฟแบ่งเป็นสองพาร์ติชันอย่างที่หลายคนเข้าใจ
เมื่อกดเข้าไปดู ก็จะเห็นรายละเอียดของแต่ละไดร์ฟ โดยส่วนแรกจะมีขนาด 4.0 GB
ไดร์ฟที่สองมีขนาด 8.0 GB ในรุ่น Windows XP หรือ 16.0 GB ในรุ่น Linux
ในส่วน Onboard Device Configuration จะเป็นการเปิดปิดอุปกรณ์ต่างๆ หากมีปัญหาติดตั้งระบบปฏิบัติการแล้วระบบมองไม่เห็นอุปกรณ์ เช่น กล้องเว็บแคม ก็ให้มาตราจดูตรงนี้ว่าอุปกรณ์นั้นๆ ถูกปิดอยู่หรือไม่
ในหน้า CPU Configuration จะแสดงรายละเอียดของซีพียูมากขึ้น ผู้ใช้สามารถตั้งค่าต่างๆ เกี่ยวกับซีพียูได้ด้วย เช่น Max CPUID Value Limit หากตั้งเป็น Disabled ไ้ว้ จะทำให้เครื่องสามารถทำงานได้เกิน 1.6 GHz (Eee PC มีโปรแกรมควบคุมการทำงานของซีพียูไว้คอยบริการสำหรับระบบปฏิบัติการ Windows XP ด้วย ทำให้สามารถรีดพลังของซีพียูได้เกิน 1.6 GHz หากต้องการประสิทธิภาพสูงๆ ในบางโอกาส) สำหรับตัวเลือก Hyper Treading Technology ก็ควรปล่อยให้เป็น Enabled ไว้ จะช่วยให้การทำงานของซีพียูมีประสิทธิภาพสูงสุด คล้ายเป็นการจำลองให้ระบบเห็นเหมือนมีซีพียูสองตัวทำงานควบคู่กัน ส่วนตัวเลือกสุดท้าย Intel SpeedStep Tech ก็ควรเปิดเป็น Enabled ไว้เช่นกัน มีประโยชน์เมื่อเครื่องใช้งานซีพียูน้อย มันจะลดกำลังการประมวลผลลง เช่นจาก 1.6 GHz อาจลดลงไปเรื่อยๆ จนถึง 800 MHz ทำให้ประหยัดพลังงานได้มาก
สำหรับหน้า Security Settings จะเป็นการกำหนด Password สำหรับการเข้าใช้งาน BIOS และการข้าในงานเครื่อง หากใช้งานอยู่คนเดียว ก็อย่าไปแตะต้องมันจะดีกว่า เดี๋ยวลืม Password ไปจะเปิดเครื่องใช้งานไม่ได้ ยุ่งเปล่าๆ
และก็มาหน้าพระเอกคือหน้า Boot Settings ซึ่งมีส่วนประกอบย่อยหลายส่วน คือ Boot Device Priority, Hard Disk Drives, Boot Settings Configuration มีรายละเอียดอีก ส่วน Onboard LAN Boot ROM เป็นการตั้งค่าให้ระบบบูทจาก Boot ROM ในระบบ LAN และ Boot Booster เป็นการเร่งความเร็วในการบูท
มาดูที่ Boot Device Priority ซึ่งจะเป็นการกำหนดลำดับการบูทของระบบว่าจะให้เริ่มบูทจากอุปกรณ์ไหนก่อน หากไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร จะบูทจาก USB Flash Disk / USB Harddisk ก่อน ตามด้วย SSD ในเครื่องและสุดท้ายคือ DVD/CD ROM นั่นเอง หากจะติดตั้งโปรแกรมจาก DVD/CD ROM แนะนำให้เปลี่ยนลำดับของ ATAPI CD-ROM ให้เป็น 1st Boot Device
มาที่หน้า Hard Disk Drives หน้านี้มีดี ผู้ใช้สามารถเลือกได้ว่าจะให้ BIOS เลือกไดร์ฟไหนเป็นไดร์ฟแรกสำหรับการบูท สามารถเลือกให้บูทได้จาก SSD ตัวแรก หรือตัวที่สอง หรือแม้แต้การบูทจาก SD Card ก็ได้ ไดร์ฟที่เลือกเป็น 1st Drive จะไปแทนที่ HDD:SM-ASUS-PHISON SSD ในหน้า Boot Device Priority
ในส่วน Boot Settings Configuration จะเป็นการกำหนดรายละเอียดในการบูท แนะนำให้คงค่าไว้เหมือนเดิมคือ Quick Boot เป็น Enabled เพื่อที่เวลาบูท ระบบจะได้ไม่ต้องตรวจนับความจุของ RAM ก่อน ส่วน Quiet Boot จะบูทโดยไม่แสดงรายละเอียดอะไรออกมา หากเลือกเป็น Disabled เวลาบูทจะเห็นรายละเอียดเป็นตัวหนังสือเยอะๆ แสดงรายละเอียดอุปกรณ์ต่างๆ ของเครื่อง (แต่อาจอ่านไม่ทัน)
หากมีการเปลี่ยนแปลงค่าต่างๆ ก็อย่าลืมบันทึกการเปลี่ยนแปลงไว้ด้วย หากเปลี่ยนแปลงอะไรจนจำไม่ได้ ก็สามารถเลือก Load Setup Defaults เพื่อใช้ค่าเริ่มต้นที่มาจากโรงงานได้เลย
ผู้ใช้สามารถเลือกอุปกรณ์สำหรับบูทระบบไ้ด้เองโดยไ่ม่ต้องไปเปลี่ยนแปลงค่า Boot Device Priority ก็ได้ สามารถทำได้โดยการกดปุ่ม Esc ตอนบูท จะมีหน้าจอแสดงอุปกรณ์ต่างๆ ที่มีอยู่ให้เลือกบูท หากเสียบ USB Flash Disk / USB Harddisk หรือ External DVD/CD ROM ไว้ ระบบก็จะแสดงรายชื่อให้เลือกด้วย
ก็ได้สำรวจทั้งรูปร่างภายนอกและ BIOS กันไปแล้ว คราวหน้ามาเปิด Windows XP ดูรายละเอียดกัน
บทความที่เกี่ยวข้อง :
---------------------------------------------------------------------
ขอบอบคุณบริษัท
Asus (Thailand) ทีเอื้อเฟื้อให้ยืม Eee PC 901 สำหรับการทดสอบครั้งนี้