หลังจากที่เสนอข่าว
Zenithink แท็บเลทแอนดรอยด์คู่แข่ง iPad อีกราย ไป ก็รู้สึกอยากได้ลึกๆ อยู่พักใหญ่ เนื่องจากต้องการแท็บเลทที่มีหน้าจอใหญ่กว่า 7" และในที่สุดก็ได้มาครอบครองจนได้ เลยนำมาแกะกล่องให้ดูกัน

กล่องของ Zenithink ePad นี้ออกแบบได้ใกล้เคียงกล่องของ Apple iPad มากๆ แต่กล่องของ iPad เล็กกว่ามาก เนื่องจากอุปกรณ์ภายในของ ePad มีมากกว่า มาดูสเปคเครื่องกันก่อน
- ซีพียู Zenithink ZT-180 1 GHz
- หน่วยความจำ 256 MB
- หน่วยความจำแฟลช 2 GB
- หน้าจอสัมผัส 10.1" แสดงผลที่ 1024 x 600 พิกเซล
- การเชื่อมต่อไร้สาย WiFi 802.11 b/g
- พอร์ท USB 2.0 / OTG miniUSB / microSD card slot / พอร์ท Ethernet / ช่องเสียบหูฟัง
- มีไมโครโฟนและลำโพงในตัว
- ขนาด 270 x 180 x 15 มม.
- แบตเตอรี่ 2400 mAh
อุปกรณ์ในกล่องนอกจากตัวเครื่อง ePad เองแล้ว ยังมีสาย Ethernet Adapter / หูฟัง / สาย USB / ปลั๊กแปลงหัว / อแดปเตอร์แปลงไฟพร้อมคู่มือบางๆ ที่ไม่ค่อยเป็นประโยชน์นัก (ไม่อยู่ในภาพ)

มาดูรอบๆ เครื่องกันเลยดีกว่า เมื่อแกะกล่องออกมาครั้งแรกจะเปิดเครื่องไม่ติด นั่นคือทางผู้ผลิตไม่ได้ชาร์จแบตเตอรี่มาให้เลย หากใครซื้อมาแล้วเปิดไม่ติดก็ไม่ต้องตกใจ แค่นำไปชาร์จแบตเตอรี่ให้เต็มก็สามารถใช้งานได้

รูปลักษณ์ภายนอก ต้องบอกว่าได้รับแรงบันดาลใจมาจาก Apple iPad โดยตรง ขนาดชื่อยังเป็น ePad เลย เพียงแต่โลโก้ตัว e อาจมีแรงบันดาลใจเพิ่มมากจากโลโก้ของ Internet Explorer ด้วย สำหรับ Zenithink ePad นี้จะพิเศษกว่าแท็บเลท Android อื่นๆ ตรงที่มีหน้าจอใหญ๋ถึง 10.1" แสดงผลที่ 1024 x 600 พิกเซล ระบบปฏิบัติการภายในเป็น Android 2.1 (Eclair) หน่วยความจำสำหรับประมวลผล 256 MB และสำหรับเก็บข้อมูล 2 GB ปุ่มด้านหน้ามีเพียงปุ่ม Back (ไม่ใช่ Home) เพียงปุ่มเดียว มีไฟแสดงสถานะใกล้ๆ ปุ่ม Back หนึ่งดวง หน้าจอเป็นหน้าจอสัมผัสแบบ resistive ไม่รองรับการใช้งานแบบมัลติทัช

กรอบจอเป็นสีดำมันวาว ฝาใต้เครื่องครอบมาจนถึงด้านข้างรอบตัวเป็นพลาสติกเคลือบสีเงิน ตรงส่วนสันเครื่องใต้จอแนวนอนมีลำโพงสเตอริโอสองตัว

สันเครื่องด้านขวามีพอร์ทมากมาย ไล่จากใกล้ไปไกลมีช่องเสียบสายชาร์จ / พอร์ท On-the-go mini USB / พอร์ท USB 2.0 / ช่องเสียบหูฟัง / รูสำหรับ reset เครื่อง และสุดท้ายไกลๆ หน่อยเป็นรูไมโครโฟน

ตรงสันด้านบนเหนือจอ มีอะไรอีกเยอะเหมือนกัน ไล่จากใกล้ไปไกลจะมีปุ่มเหมือนปุ่มเพิ่มลดเสียง แต่จริงๆ ไม่ใช่ กลับกลายเป็นปุ่ม Task manager และปุ่ม Menu แทน ต่อไปเป็นช่องเสียบสาย Ethernet Adapter ปุ่มเปิดปิดเครื่องและสุดท้่ายเป็นช่องเสียบ microSD card

ด้านหลังของเครื่องเป็นพลาสติกชิ้นเดียวเรียบๆ ไม่มีโลโก้ด้วยซ้ำ เนื่องจาก Zenithink ePad นี้เป็นแท็บเลทที่ตั้งใจขายให้ผู้แทนจำหน่ายนำไปติดโลโก้ของตนเองอีกที

เปิดเครื่องขึ้นมา จะเห็นหน้าจอที่คุ้นเคย มีที่วาง widget เพียบ โปรแกรม launcher เป็น ADW launcher เวอร์ช่น 1.0.1

กดปุ่มเรียกโปรแกรม ก็จะเจอหน้าโปรแกรมอีกหลายโปรแกรม หากเป็นเฟิร์มแวร์รุ่นหลังๆ จะมี Google Android Market มาให้ด้วย แต่เปิดใช้งานไม่ได้ทันที ต้องใช้กำลังภายในกันเอง เนื่องจากทาง Google ไม่อนุญาตให้ใช้งาน Google Experience กับอุปกรณ์ที่ไม่มีระบบโทรศัพท์หรือต่ออินเตอร์เนท์ผ่านระบบเครือข่ายโทรศัพท์

ความพิเศษของ Zenithink ePad นอกจากจะมีพอร์ม USB ขนาดมาตรฐานให้ใช้งานแล้ว ยังสามารถเชื่อมต่อกับระบบเครือข่ายผ่านทางสาย LAN ได้ด้วย แถมมีสาย Ethernet Adapter มาให้ในกล่อง ไม่ได้แยกขายออกมาต่างหากด้วย

พอร์ท USB ไม่ใช่แค่ใช้งานได้กับ USB Flash Disk เท่านั้น จะเอา USB Keyboard มาเสียบก็ใช้งานได้ และที่สำคัญ สามารถนำ USB 3G Modem มาเสียบใช้งานได้ด้วย (รองรับ 3G Modem บางรุ่นกับเฟิร์มแวร์รุ่นใหม่)
ปัจจุบันมีแท็บเลท Android หลายแบรนด์เหมือนกันที่นำ Zenithink ePad นี้ไปทำตลาดในชื่อของตัวเอง ทำให้รุ่นนี้มีชื่อเรียกหลายชื่อ ยกตัวอย่างเช่น FlatPad A10 / Orphan M16 / ZT-180 และเนื่องจาก Zenithink ePad เป็นแท็บเลท Android ราคาประหยัด มันคงจะไม่สมบูรณ์แบบนัก ถือว่าค่อนข้างดื้อเหมือนก้ัน กว่าจะจัดการปรับแต่งให้ใช้งานได้อย่างมีความสุข ก็เล่นเอาเหนื่อยเหมือนกัน แต่เมื่อปรับแต่งค่าต่างๆ ได้ดีแล้ว ถือว่ามันเป็นแท็บเลท Android ที่น่าใช้รุ่นหนึ่งเลยทีเดียว