แกะกล่อง MSI Wind U100 ตอนที่ 3 (BIOS)ได้สำรวจรูปร่างหน้าตาของน้องวินดี้หรือ MSI Wind U100 กันไปแล้ว มาเจาะลึกถึงระบบ BIOS ของน้องเขาอีกหน่อยว่าทาง MSI ได้เตรียมพร้อมรองรับการใช้งานไว้มากน้อยเพียงใด
การเข้าสู่ BIOS ทำได้โดยการกดปุ่ม DEL ขณะบูทเครื่อง เมื่อเข้าไปแล้ว หน้าแรกจะเป็นหน้า Main ซึ่งแสดงส่วนประกอบที่ติดตั้งไว้ในเครื่อง ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขค่าได้ ยกเว้นวันที่และเวลา
ในส่วนของ IDE Information จะแสดงรายการของฮาร์ดดิสกด์ที่ติดตั้งอยู่ ซึ่ง MSI Wind U100 จะติดตั้งฮาร์ดดิสก์ของ Western Digital แบบ SATA ความจุ 80 GB
ในส่วน System Information จะแสดงรายละเอียดของรุ่น BIOS รายละเอียด CPU และรายละเอียดของ RAM ที่ติดตั้งไว้ จะเห็นว่า System Bus Speed ของ MSI Wind U100 นี้คือ 533 MHz เวลาจะซื้อ RAM มาเพิ่มก็ต้องซื้อที่มีความเร็วอย่างต่ำ 533 MHz ขึ้นไป แต่ในปัจจุบันราคาของรุ่นความเร็ว 667 และ 800 MHz น่าจะถูกว่ารุ่น 533 MHz ดังนั้น สามารถซื้อที่เป็น 667 หรือ 800 MHz มาใส่ได้เลย หากใส่แล้วเปิดเครื่องติดเป็นอันใช้ได้
ในหน้า Advanced จะสามารถตั้งค่าเกี่ยวกับระบบการทำงานที่ลึกขึ้น เช่น สามารถเปิดปิดการทำงานของ Intel (R) SpeedStep (tm) เพื่อให้ CPU ทำงานด้วยความเร็วสูงสุดตลอดเวลา แต่จะทำให้เปลืองพลังงานมากขึ้น ส่วนอื่นๆ แนะนำว่าให้คงไว้อย่างเดิม
หากเสียบ USB Flash Disk ค้างอยู่ขณะเปิดเครื่อง ในส่วนของ Mass Storage Device จะแสดงรายชื่อของ USB Flash Disk นั้นขึ้นมาด้วย แต่หากไม่ได้เสียบอะไร ค่าปกติจะแสดงเฉพาะ Generic-Multi-Card ซึ่งก็คือ SD Card Reader นั่นเอง
ในส่วนนี้สามารถกำหนดการทำงานของอุปกรณ์ USB ให้ทำงานแบบไหนก็ได้ เช่น หากเสียบ Bootable USB Flash Disk หรือ Bootable SD Card ไว้ ก็สามารถกำหนดแบบ Forced FDD เพื่อให้บูทมาเป็นไดร์ฟ A: ทำให้การติดตั้งระบบปฏิบัติการ Windows จาก USB Flash Disk / SD Card ทำได้ราบรื่น เพราะหากไม่กำหนดไว้ เมื่อบูทแล้วมันจะเป็น C: โดยฮาร์ดดิสก์ในเครื่องจะเป็น D: และ E: แทน การเลือกในส่วนนี้จะไม่มีผลเมื่อเข้าระบบปฏิบัติการ Windows แล้ว ระบบยังคงมองเห็นเป็น Removable Drive เช่นเดิม แม้กำหนดให้เป็น Harddisk แล้วก็ตาม (ต้องทำเป็น Local Drive เองอยู่ดี)
มาที่หน้า Boot กันบ้าง จะเป็นหน้าที่ให้ตั้งค่าลำดับการบูทว่าจะให้บูทกับอุปกรณ์ไหนก่อนหลัง ผู้ใช้ยังคงสามารถเลือกสื่อที่จะบูทเองได้โดยการกด F11 ขณะบูท
หน้า Security สำหรับให้ผู้ใช้กำหนด Password สำหรับการเข้าสู่ BIOS ทางที่ดีก็ไม่ต้องไปกำหนดอะไรหรอก ใช้งานอยู่คนเดียว คงไม่มีใครมายุ่งกับ BIOS (มั๊ง)
เมื่อแก้ไขค่าต่างๆ แล้ว ก็อย่าลืมบันทึกค่าไว้ด้วย หากแก้ไปแก้มาจนเละ ก็สามารถเลือก Load Setup Defaults เพื่อใช้ค่าเริ่มต้นที่มาจากโรงงานได้เลย
โดยปกติแล้ว การตั้งค่าใน BIOS จะไม่ใช่เรื่องที่ต้องทำกันบ่อยๆ บางคนก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่า BIOS คืออะไร เอาไว้ทำอะไร เชื่อว่าหลังจากอ่านบทความนี้แล้ว คงจะกล้าเข้าไปสำรวจ BIOS กันด้วยตัวเอง มันไม่ใช่เรื่องยากหรือเรื่องน่ากลัวอย่างที่คิด
บทความที่เกี่ยวข้อง :
------------------------------------------------------------------------------
ขอขอบคุณ บริษัท
eSys (Thailand) ที่เอื้อเฟื้อ MSI Wind U100 มาเพื่อการทดสอบครับ