เข้าระบบ

ชื่อเรียก:

รหัสผ่าน:

จำฉัน



ลืมรหัสผ่าน?

สมัครสมาชิก!

เมนู






เรามาบริหารสมองด้วย Mind Map กันเถอะ
มือวาง
เป็นสมาชิกเมื่อ:
15/5/2007 16:45
กลุ่ม:
สมาชิก
โพส: 927
? เรามาบริหารสมองด้วย Mind Map กันเถอะ

สมองของคนแบ่งออกเป็นตามการใช้งาน เป็นสองซีก คือ ซีกซ้าย และ ซีกขวา โดย

สมองซีกซ้าย ทำหน้าที่เกี่ยวกับเรื่องของวิทยาศาสตร์
การคิดวิเคราะห์ ความเป็นเหตุผล สัญลักษณ์ ตรรกะ ลำดับขั้นตอน
และมักจะจำกัดขอบเขตของความคิด ให้อยู่ในกรอบความรู้ หรือประสบการณ์ที่มีอยู่

ส่วนสมองซีกขวา จะทำงานในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับศิลปะ
การมองภาพรวม การใช้อารมณ์และความรู้สึก มีจินตนาการ สร้างสรรค์
ไม่มีขอบเขตมาปิดกั้นความคิดให้อยู่เพียงแค่ในกรอบเท่านั้น

Mind Map หรือ แผนที่ความคิด
เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการจัดระบบความคิดที่นำเอาทฤษฎีเกี่ยวกับสมองไปใช้ ให้เกิดประโยชน์
จากเดิมที่มนุษย์เรา เคยจดบันทึกความคิดออกมาในรูปแบบการเขียนเป็นตัวอักษร
ไปตามบรรทัด เป็นแถว เป็นแนว
ซึ่งเป็นการบันทึก โดยใช้แต่ทักษะของสมองซีกซ้ายเพียงอย่างเดียวทำให้ยากต่อการจดจำ
เปลี่ยนมาเป็นการบันทึกที่นำทักษะของสมองซีกขวาในด้านการใช้จินตนาการ
และความคิดสร้างสรรค์ มาทำงานร่วมกัน
โดยการบันทึกความคิดทั้งหลายออกมาในลักษณะของการใช้ภาพ สัญลักษณ์ สีต่างๆ
และใช้เส้น ในการเชื่อมโยงความคิดทั้งหลายเข้าไว้ด้วยกัน

หนังสือ How to Mind Map ของ Tony Buzan ผู้ให้กำเนิด Mind Map
กล่าวไว้ว่า Mind Map เปรียบได้กับแผนที่เมืองใหญ่ๆ
ศูนย์กลางของ Mind Map ก็เหมือนศูนย์กลางของเมือง
ซึ่งเป็นหัวเรื่องที่สำคัญที่สุด ถนนสายหลักต่าง ๆ ที่วิ่งออกจากจุดศูนย์กลาง
เปรียบเสมือนความคิดหลักที่เกี่ยวข้องกับหัวเรื่อง
ถนนสายรองๆ ลงมา คือ ความคิดที่รองลงมา
แผ่ขยายกิ่งก้านสาขาออกไปเรื่อยๆ โดยอาจมีรูปภาพ และสัญลักษณ์ต่าง ๆ
วาดลงบน Mind Map เพื่อช่วยกระตุ้น ให้เกิดการจดจำ และสนใจเป็นพิเศษ
สามารถเรียกข้อมูลกลับมาในภายหลังได้ง่าย
และมีความถูกต้องแม่นยำ มากกว่าการใช้เทคนิคการจดบันทึกแบบเดิมๆ

Mind Map เป็นเครื่องมือจดบันทึกอย่างหนึ่ง ที่มีประโยชน์มากมายกว่าที่เราคิด
Mind Map ช่วยให้การเรียนรู้เป็นเรื่องที่สนุกสนาน
รู้จักคิดอย่างสร้างสรรค์ และมีชีวิตชีวามากยิ่งขึ้น
เราสามารถนำ Mind Map ไปใช้ได้ทั้งในชีวิตประจำวัน และชีวิตการทำงาน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เช่น การวางแผน, การวิเคราะห์, การแก้ไขปัญหา, การบันทึกช่วยจำ เป็นเครื่องมือช่วยในการตัดสินใจ เป็นต้น
เนื่องจาก Mind Map จะช่วยให้เรารู้จักจัดระบบระเบียบความคิด,
จินตนาการ, จับประเด็นสำคัญต่างๆ และการเชื่อมโยงข้อมูลเข้าด้วยกัน

หลักการเขียน Mind Map

1. เริ่มจากการนำกระดาษเปล่าที่ไม่มีเส้นขนาด A4 หรือ A3

วางตามแนวนอน ซึ่งกระดาษเปล่าที่ไม่มีเส้น

จะช่วยในเรื่องของการปลดปล่อยความคิดให้มีอิสระได้อย่างเต็มที่


2. ระบุประเด็นหลักของเรื่องที่ต้องการจะเขียน

ลงตรงกึ่งกลางหน้ากระดาษ โดยการวาดเป็นรูปภาพหรือสัญลักษณ์แทน

เนื่องจาก ภาพเพียงภาพเดียว สามารถสื่อความหมายได้มากกว่าคำเป็นพันคำ

และไม่ควรใส่กรอบ ให้กับภาพศูนย์กลาง

เพราะกรอบจะเป็นตัวที่สกัดกั้นการไหลของความคิด


3. แตกความคิดของหัวเรื่อง ออกเป็นกิ่งก้านต่างๆ กระจายออกรอบทิศทาง

ซึ่งกิ่งแต่ละกิ่งจะต้องเชื่อมโยงต่อกัน

และมีความยาวสัมพันธ์กับคำหรือภาพที่อยู่บนกิ่ง

กิ่งที่อยู่ใกล้กับแกนกลาง จะหนากว่ากิ่งที่อยู่รอบนอก

มีลักษณะคล้ายกับ ต้นไม้ที่แตกกิ่งก้านสาขาออกไปรอบๆ ลำต้น


4. เขียนคำสำคัญที่มีลักษณะสั้น กระชับ เป็นตัวบรรจง

ลงบนกิ่ง แต่ละกิ่งที่แตกแขนงออกไป

และเส้นบนกิ่งเดียวกัน ควรใช้สีเดียวกัน

หากมีความคิด ที่มีความสัมพันธ์กันแต่อยู่คนละกิ่ง

ให้ใช้ลูกศรเชื่อมโยงกันได้


5. ใช้สีในการเขียน Mind Map ให้ทั่วทั้งแผ่น แต่งแต้มแต่ละกิ่งให้ต่างสีกัน

เพราะสีจะช่วยเร้าอารมณ์ ยกระดับความทรงจำ

เกิดความสวยงาม เพลินตา และเพิ่มพลังความคิดสร้างสรรค์

ซึ่งเป็นการกระตุ้นการทำงาน ของสมองซีกขวา


เมื่อได้ทราบถึงหลักในการเขียน Mind Map กันแล้ว
ลองหยิบกระดาษขึ้น
เริ่มหัดเขียน Mind Map แผ่นแรกของตัวท่านเอง
โดยเริ่มเขียนจากเรื่องใกล้ตัวกันก่อน
ในระยะแรก Mind Map ของท่านอาจจะดูรก ไม่สวยงาม และเขียนได้ช้า
แต่เมื่อได้ฝึกฝนบ่อยๆ ไปสักระยะหนึ่ง
ท่านจะเขียนได้สวยขึ้น เป็นระบบระเบียบมากขึ้น และเขียนได้เร็วกว่าเดิม
แถมยังทำให้ท่าน คิดได้เร็วกว่าคนอื่นอีกด้วย

สิ่งสำคัญ ที่ท่านจะต้องไม่ลืมในการเขียน Mind Map นั้นก็คือ
ต้องปลดปล่อยความคิด ให้โลดแล่นอย่างเต็มที่ อย่าปิดกั้นจินตนาการของตนเอง

เพียงเท่านี้ ท่านก็จะพบว่า Mind Map
ช่วยทำให้เรื่องที่ดูยุ่งยากซับซ้อน กลายเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น
สามารถรับรู้ได้ทันทีว่า อะไรเป็นสิ่งสำคัญ
ปัญหาที่แท้จริงคืออะไร และมีหนทางใดบ้าง ที่จะช่วยในการแก้ปัญหา
หรือจะกล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่า
Mind Map ทำให้ ท่านมองเห็นภาพรวมของสิ่งที่ท่านคิดได้อย่างชัดเจนนั่นเอง


จดหมายข่าวรายเดือน สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ปีที่ 9 ฉบับที่ 101 สิงหาคม 2551

โพสเมื่อ : 8/6/2009 8:35
Transfer the post to other applications Transfer







[ค้นหา ขั้นสูง]